ศึก “เหล็ก”ยื้อ รุมค้านพาณิชย์ยกเลิกเอดี หวั่นตกงานกว่า 7,500 คน
สภาอุตฯ-นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น รุมค้านพาณิชย์ยุติเอดีเหล็กรีดร้อน 5 ประเทศ ย้ำรัฐต้องปกป้องอุตสาหกรรมและสร้างงานในประเทศ หวั่นกระทบหนักถึงขั้นปิดกิจการ ตกงาน 7,500 คน สูญเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศปีละกว่า 1 หมื่นล้าน ยกเคตสหรัฐกว่า 10 ปียังคงเอดีเหล็กไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ได้เห็นพ้องกันในการร่วมคัดค้านคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน(ทตอ.) ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน หลังกระทรวงพาณิชย์พิจารณาในวันเดียวกัน ยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กจาก 6 ประเทศทุ่มตลาด 3 มาตรการรวด แต่ทะยอยแจ้งเปิดเผยไม่พร้อมกัน ตั้งแต่มกราคม 2566 เป็นต้นมา โดยล่าสุดกลางเดือนมีนาคม 2566 แจ้งยุติมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศจีน และมาเลเซีย
ทั้งนี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยังคงคัดค้านต่อร่างผลการไต่สวน AD เนื่องจากการพิจารณาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงแนวทางการพิจารณาไม่เป็นไปตามข้อชี้แจงของกรมการค้าต่างประเทศที่แถลงต่อสาธารณะชนในเรื่องการพิจารณาต่ออายุมาตรการ โดยสินค้าจากประเทศจีน และมาเลเซียยังมีการทุ่มตลาดในอัตรา 17.86% และ 4.72% ตามลำดับ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างแน่นอน
หากไม่มีการใช้มาตรการต่อไป โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีการส่งออกมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงกว่า 270% อีกทั้งจีนยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกกว่า 170 ล้านตัน ย่อมต้องหาทางระบายสินค้าไปยังประเทศที่ไม่มีมาตรการอย่างแน่นอน โดย มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจนว่าในปี 2564 จีนและมาเลเซียส่งออกเหล็กมายังภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 1.68 ล้านตัน และเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 32.16% ของการส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าอาเซียนเป็นเป้าหมายหลักของการทุ่มตลาด
“ข้อมูลขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ระบุชัดเจนว่าจีนเป็นประเทศที่ถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยถูกใช้มาตรการไปถึง 149 มาตรการ นี่คือปัจจัยที่ชี้ชัดว่าจีนจะกลับมาทุ่มตลาด และสร้างความเสียหายอย่างแน่นอน”นายเกรียงไกร กล่าว และว่า
ขอให้กรมการค้าต่างประเทศ และคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน พิจารณาทบทวนผลการต่ออายุมาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนทั้ง 5 ประเทศอีกครั้ง เพราะหากปล่อยให้สินค้าทุ่มตลาดจากทั้ง 5 ประเทศไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศคงต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานทางตรงกว่า 3,500 คน และการจ้างงานต่อเนื่องอีกกว่า 4,000 คน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศปีละกว่า 10,000 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ทัชมัย ฤกษะสุต ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กฎหมายเศรษฐกิจ และกฎหมายธุรกิจ ให้ความเห็นต่อแนวทางการพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ซึ่งตรงกับ Article 11.3 ของความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดหรือ Anti-Dumping Agreement: ADA ว่า
“การพิจารณาว่า หากไม่มีการต่ออายุมาตรการจะส่งผลให้ความเสียหายและการทุ่มตลาดฟื้นคืนมาอีกหรือไม่” เป็นการพิจารณา “แนวโน้ม” ที่จะทำให้มีการทุ่มตลาด และความเสียหายฟื้นคืนมาอีก จึงไม่จำเป็นต้องพบการทุ่มตลาดและมีความเสียหายเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกใช้ในการทบทวนการใช้ AD ซึ่งพิจารณาได้จากมาตรา 11.3 ซึ่งบัญญัติได้ความว่า “หากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจทบทวนแล้วเห็นว่า การยุติการเก็บ AD อาจมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นต่อไปหรือก่อให้เกิดอีกครั้งซึ่งการทุ่มตลาดหรือความเสียหาย (คืออาจจะให้เก็บ AD ต่อไปก็ได้) โดยให้คงการเก็บ AD ไว้จนกว่าจะมีผลการทบทวนดังกล่าว”
ประกอบกับมีแนวทางคำตัดสินขององค์การการค้าโลกในคดี US – Oil Country Tubular Goods Sunset Reviews ได้วางหลักไว้ว่า การทบทวนการเก็บ AD ที่เรียกว่า sunset review นั้นไม่ตกอยู่ภายใต้มาตรา 3 ของความตกลง AD ซึ่งมาตรา 3 ของ ADA เป็นเรื่องการพิสูจน์ความเสียหายหรือ “Determination of Injury” หมายความว่า การจะจัดเก็บ AD ต่อไปหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ความเสียหายตามมาตรา 3
นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างเชิงประจักษ์จากกรณีที่ประเทศไทยถูกประเทศสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนตั้งแต่ปี 2544 และในช่วงปี 2556 - ปัจจุบัน ผู้ผลิตในประเทศไทยไม่มีการส่งสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไปสหรัฐอเมริกา ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ผลิตในประเทศไทยไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่มีการทุ่มตลาดไปยังสหรัฐอเมริกามากว่า 10 ปี แต่สหรัฐอเมริกาก็ยังคงพิจารณาต่ออายุมาตรการกับไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ส่วนเรื่องระยะเวลาที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาต่ออายุก็พิจารณาได้จากแนวทางคำตัดสินของคดี US – Oil Country Tubular Goods Sunset Reviews เช่นกันโดยพิจารณาได้จากผลการพิจารณาซึ่งระบุว่า “การพิจารณาถึงแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นต่อไปหรือก่อให้เกิดอีกครั้งซึ่งความเสียหายนั้น ไม่จำเป็นต้องกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิสูจน์ เพียงแต่การพิสูจน์ถึงแนวโน้มฯ ดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่เพียงพอที่จะทำให้เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสามารถมีผลการพิจารณาที่ชอบด้วยเหตุผลและเหมาะสมพอ และการพิสูจน์ความเสียหายก็ต้องอยู่บนพื้นฐานดังกล่าวเช่นกัน แม้จะไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ก็ตาม”
“ดังนั้นจึงเห็นว่า การพิจารณาต่ออายุมาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศไทยก็ควรพิจารณาถึงแนวโน้มการทุ่มตลาด และความเสียหายที่จะฟื้นคืนมา เช่น พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมยังคงมีอยู่หรือไม่ ความสามารถในการผลิต (กำลังการผลิตส่วนเหลือ) และการส่งออก (ปริมาณการส่งออกไปทั่วโลก) ยังคงมีอยู่หรือไม่ และไม่ควรนำผลประกอบการของอุตสาหกรรมภายในแค่ช่วงใดช่วงหนึ่งมาเป็นเหตุผลสำคัญในการต่ออายุ หรือยุติมาตรการ”ศาสตราจารย์ ทัชมัย กล่าว
ด้าน นายสมหมาย ปานทอง อุปนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอบางสะพาน และนายวิเชียร เกตุงาม รองประธานชมรมฯ ให้ความเห็นว่า การยุติมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบด้านลบที่รุนแรงต่อคุณภาพชีวิต ระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน รายได้ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างแน่นอน
เนื่องจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ของคนไทย คือ กลุ่มเหล็กสหวิริยา ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในพื้นที่อำเภอบางสะพานมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างมากมาย ลำพังจะอาศัยภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในเรื่องของราคาผลผลิตการเกษตรที่ผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะราคามะพร้าว ซึ่งเป็นพืชหลักของเกษตรกรประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนมาตรการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากต่างประเทศใหม่ และส่งเสริมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของคนไทย