อุตสาหกรรม 4.0 ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตัว
ยุคสมัยนี้ไม่ว่าจะหันไปทิศทางไหน เรามักจะได้ยินคำว่า 4.0 อยู่เสมอๆ คุ้นเคยที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องของประเทศไทย 4.0 ซึ่งถือเป็นนโยบายล่าสุดของรัฐบาลที่มุ่งหวังว่าจะฉุดประเทศไทยให้พ้นกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ก่อนที่จะเดินมาถึงจุดนี้ที่ผ่านมา เราได้ผ่านยุค 1.0 - 3.0 โดยถูกให้คำจำกัดความว่า
ในยุค 1.0 เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยภาคเกษตรกรรม
ถัดมาเป็นยุค 2.0 เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วย ภาคอุตสาหกรรมเบา
และ ในยุค 3.0 เป็นช่วงเวลาที่ถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมหนัก และการส่งออก ซึ่งเราอยู่ในยุคนี้มาจนถึงจุดที่อิ่มตัว เห็นได้จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มลดลงและทรงตัวที่ระดับต่ำ หากไม่หาแรงขับเคลื่อนตัวใหม่ เราก็จะไม่สามารถหลุดออกมาจากกับดักของรายได้ปานกลางได้ และในที่สุดก็จะถูกคู่แข่งแซงหน้าขึ้นไป
แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ที่รัฐบาลประกาศนำมาใช้ ก็คือ การใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า Value-Base Economy ภายใต้ชื่อ “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งการที่จะเดินไปในทางนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนที่มีความเข้มแข็ง
ส่วนอุตสาหกรรม 4.0 มองเผินๆ เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของ ประเทศไทย 4.0 แต่หากดูถึงที่มาที่ไปของอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว พบว่าเป็นคนละเรื่องกัน อีกทั้งอุตสาหกรรม 4.0 ยังเกิดขึ้นมาก่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 อีกด้วย โดยอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry 4.0 ถือเป็นแนวทางในการปฎิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 ในฐานะนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของประเทศเยอรมันนี ซึ่งมองเห็นว่าในช่วง 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเตอร์เนต ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ไม่ว่าจากคนสู่คน คนสู่เครื่องจักร และ เครื่องจักรสู่เครื่องจักร ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผลในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ในฐานะของนักลงทุน ผู้เขียนเห็นว่าควรมองการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในฐานะที่เป็นโอกาสอันดีสำหรับการลงทุน เนื่องจากการปฎิวัติอุตสาหกรรม แต่ละครั้งที่ผ่านมาล้วนทำให้เกิดการยกฐานขึ้นของขนาดอุตสาหกรรม กล่าวคือ
ในยุคเริ่มแรกการดำรงชีพของมนุษย์ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สังคมเกษตรกรรม การผลิตสินค้าต่างๆที่นำออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยนก็มักทำกันในระบบครัวเรือน การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 หรืออาจเรียกว่า Industry 1.0 เป็นการปรับจากการผลิตในครัวเรือน มาเป็นการดำเนินการโดย พ่อค้า - นายทุน โดยจะทำหน้าที่ลงทุนรวบรวมสินค้า หรือจ้างแรงานในการผลิตสินค้าขึ้นมา แล้วนำไปขายต่อ ซึ่งไม่มีความซับซ้อน กระบวนการผลิตก็จะใช้ แรงงานคน แรงงานสัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งในช่วงเวลาต่อมา ก็ได้มีการคิดค้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต โดยการนำเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอน้ำมาใช้งาน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ การเปลี่ยนแปลงจากการผลิตในครัวเรือนมาสู่การผลิตในระบบนายทุน และการนำเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ มาใช้ ทำให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นยุคของ อุตสาหกรรม 1.0
การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 หรือ Industry 2.0 เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นมาอีกหนึ่ง โดยมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 ส่วนที่สำคัญคือการนำระบบสายพาน มาใช้ในสายการผลิตทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นมาได้อย่างมาก เห็นได้ชัดเจนในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ นำโดยค่ายรถยนต์ Ford และขยายออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องจักร ก็ได้ปรับเปลี่ยนจาก พลังงานไอน้ำ มาเป็นพลังานไฟฟ้า พัฒนาการทั้ง 2 ส่วน ทำให้อุตสาหกรรมสามารถผลิตสินค้าที่เหมือนๆ กันได้เป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า Mass Product
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 หรือ Industry 3.0 เป็นยุคที่เริ่มนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานในอุตสาหกรรม และพัฒนาให้สายการผลิตที่เป็นอยู่ในยุค Industry 2.0 กลายเป็นสายการผลิตอัตโนมัติ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นมาได้อีกระดับหนึ่ง และที่สำคัญ ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนเพิ่มเติมขึ้นมาได้ แต่อย่างไรก็ตามการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานอุตสาหกรรมยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีลักษณะที่เป็น Stand Alone โดยยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างกัน
สำหรับการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบนเครือข่ายอินเตอร์เนต ที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสื่อสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยทำให้มนุษย์ กับเครื่องจักร รวมถึง เครื่องจักร กับ เครื่องจักร สามารถเชื่อมต่อกันได้ หรือเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Internet of Things ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการทั้งในอุตสาหกรรม ตลอดจนรูปแบบการดำรงชีวิตของบุคคล ยกตัวอย่างเช่น
· การผลิตสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลได้มากขึ้น และผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ลดต่ำลง ด้วยปรับโรงงานให้เป็น Smart factory ผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3D ส่วนในภาคบริการ ก็จะทำให้บริการหลายประเภท ซึ่งที่ผ่านมาถูกสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการกับสาธารณชน สามารถปรับให้ตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกันได้ ที่เห็นได้ชัดในปัจจุบันก็เช่น การดูโทรทัศน์ ซึ่งในอดีตมีทางเลือกไม่มาก แต่ปัจจุบันนอกจากมีจำนวนช่องทีวีที่มากและหลายหลายขึ้นแล้วยังมี TV on Demand ในอนาคต ก็อาจะเป็นไปได้ว่า เราไปชมภาพยนตร์กับเพื่อนในโรงภาพยนต์เดียวกัน แต่สามารถที่จะชมภาพยนตร์คนละเรื่องกันได้ เป็นต้น
· ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการสินค้า ทำได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างในเบื้องต้นที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันก็เช่น การให้บริการทางการเงินผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งนอกจากจะรวดเร็วแล้วยังเสียค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงมากด้วย เช่น การโอนเงินผ่าน Prompt Pay เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีระบบ Online Shopping หรือ TV Shopping ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในระบบอุตสาหกรรม การที่ Suppliers สามารถตอบสนองความต้องของโรงงานได้อย่างรวดเร็ว ก็น่าจะทำให้ภาระในการจัดเก็บสินค้าคงคลังลดลงไปได้มาก
· การเชื่อมต่อระหว่าง Supply Chain ตลอดสาย ให้ทำงานสอดคล้องกับ Demand ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และทำให้สินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ที่ดีขึ้น อย่างเช่น ระบบการเรียกใช้บริการรถโดยสารผ่าน Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ การนำห้องพักที่ว่างออกปล่อยเช่า และการจองห้องพัก ผ่าน Applications หรือบน Website เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้สินทรัพย์ที่มีอยู่ถูกนำมาใช้ทำประโยชน์ได้มากขึ้น และทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
· การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเดิมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางต้องพบกับคู่แข่งที่น่ากลัว และหากไม่ปรับตัวก็อาจถูกขจัดออกไปจากวงจรธุรกิจ เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าทำให้การติดต่อกันโดยตรงระหว่างผู้ขายสินค้า - บริการ กับผู้ซื้อสินค้า - บริการ พบกันง่ายขึ้น เช่น เกษตรกร สามารถขายผลผลิตโดยตรงให้กับผู้บริโภคได้ ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน - รถยนต์ ก็มีช่องทางที่จะเข้าติดต่อกับผู้ที่มีความต้องการได้โดยตรง และต่อไปธุรกิจการเงิน ที่เคยมีตัวกลางเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ที่มีเงินทุนเหลือ กับผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน บทบาทของตัวกลางก็อาจถูกลดทอนลงได้ในอนาคต หากไม่มีการปรัวตัว ทั้งนี้รวมถึงนายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันพบว่าปริมาณการซื้อขายโดยตรงผ่านระบบอินเตอร์เนตมีมากกว่าการซื้อขายระบบเดิม
นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีพัฒนาการอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจากนี้ไปต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต - การค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง และหากมองในมุมของนักลงทุน ก็ต้องเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ดี ซึ่งมองในเชิงบวก ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการทำกำไรได้ในอนาคต แต่ขณะเดียวกัน หากขาดการเตรียมตัวที่ดีพอก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทยแล้ว การประกาศนโยบาย ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เพื่อที่จะยกเครื่องทุกภาคส่วนให้สามารถหน้าวิ่งไปข้างหน้าพร้อมกัน สู่เป้าหมายข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยรัฐบาลออกมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน สร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลงทุนผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เป็นต้น ถือเป็นเรื่องที่มีส่วนช่วยอย่างมากที่จะทำให้ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในประเทศก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับในแง่มุมของบริษัทจดทะเบียน ประเมินว่าพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาจากนี้ไป น่าจะเห็นการการเดินหน้าเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ โดยการลงทุนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นเรื่องของระบบเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่ ผ่านการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งการปรับตัวในช่วงที่เป็นรอยต่อในปัจจุบัน จะเป็นตัวชี้วัดว่าในอนาคต 10 – 20 ปีข้างหน้า ใครจะรุ่งโรจน์ หรือ ใครจะร่วงโรย
รู้อย่างนี้แล้ว จะนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สู่ความรุ่งโรจน์
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)