“ขาดแคลนแรงงาน” ปัญหาแก้ไม่ตก
ระเบิดเวลาอีกลูกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวขาดแคลนในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานจาก 3 ประเทศ (เมียนมา-ลาว-กัมพูชา)
แรงงานต่างด้าวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพลิกฟื้น ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงานในภาคการผลิตและการบริการบางประเภท ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธ
ย้อนกลับไปในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประเมินว่าปริมาณความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวมีอยู่ประมาณ 424,703 คน แบ่งเป็นสัญชาติเมียนมา 256,029 คน กัมพูชา 130,138 คน และลาว 38,536 คน และล่าสุดภาคเอกชนประเมินว่าประเทศ ไทยจะเกิดวิกฤติขาดแคลนแรงงานต่างด้าวสูงถึง 800,000 คน
โดยประเภทกิจการที่ต้องการจ้างแรงงานมากที่สุด คือเกษตรและปศุสัตว์ ตามมาด้วยก่อสร้าง การเกษตร การผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยจังหวัดที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุดคือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ จันทบุรี สมุทรสาคร และระยอง
ในภาวะที่การเปิดประเทศกำลังขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี ฟันเฟืองเศรษฐกิจเริ่มกลับมาทำงานได้เกือบสมบูรณ์อีกครั้ง ภาคการผลิตที่กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน จะกลายเป็นระเบิดเวลาทำลายล้างการเดินหน้ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปหรือไม่ นี่คือนานาทัศนะจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้...
เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
โควิด-19 ที่ระบาดทั่วโลกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยทยอยเดินทางกลับประเทศ จนหลังการแพร่ระบาดเริ่มลดลง ภาคการผลิตและการบริการเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมได้มากขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวยังไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้
เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเข้าเมืองและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการตรวจร่างกายที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการเข้าเมืองมีความยุ่งยาก ลักษณะงานบางประเภทที่แรงงานไทยไม่ยอมทำ หรือมีการแข่งขันดึงแรงงานต่างด้าว เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ให้ค่าจ้างที่สูงกว่า ส่งผลให้สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานต่างชาติมีความรุนแรงต่อเนื่อง
ทำให้ในปัจจุบันภาคธุรกิจยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน มากกว่า 500,000 คน โดยส่วนใหญ่อุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาการขาดแคลน จะมีการใช้แรงงานเข้มข้น เช่น อาหาร ก่อสร้าง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด ของโควิด -19 กับประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพิ่มปริมาณแรงงานต่างด้าวให้กับภาคเอกชน ด้วยกลไกการควบคุมโรคตั้งแต่ประเทศต้นทางจนถึงก่อนเข้าโรงงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน
แต่ปัญหาใหญ่ของโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เกิดจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์จากประเทศจีนและไต้หวัน ซึ่งทำให้โรงงานผลิตในประเทศไทยมีปัญหาขาดวัตถุดิบซัพพลายเชน แม้จะมีคำสั่งซื้อหรือออเดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่สามารถผลิตได้เพียง 70% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีความจำเป็นต้องดำรงการจ้างแรงงานไว้ โดยอาจจะจ่ายค่าแรงเพียง 75% เพื่อเตรียมความพร้อมของโรงงานไว้ตลอดเวลา
การขาดแคลนดังกล่าวมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์จำนวนมาก รถยนต์แต่ละคันต้องการใช้จำนวน 80-300 ชิ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (อีวี) มาเร็วเกินคาดหมาย ทำให้กำลังการผลิตที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
เพื่อรับมือกับเทรนด์ดังกล่าว รัฐบาลควรเน้นส่งเสริมการศึกษาด้านช่างเทคนิคเพราะตลาดมีความต้องการมากและจ่ายค่าแรงได้ดี หลายๆสาขาได้ค่าตอบแทนดีกว่าระดับปริญญาตรีด้วยซ้ำ อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่ระดับมัธยมให้เลือกศึกษาช่างเทคนิคเฉพาะทางไปเลย และเป็นการแก้ปัญหานักศึกษาจบระดับปริญญาตรีแล้วออกมาตกงานเป็นจำนวนมากด้วย.